พื้นที่ทางการเมืองและการเรียกร้องสิทธิ์
อันพึงมีของราษฎร

          ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองภายในบริเวณนี้ คือ พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน จะสังเกตเห็นว่าเมื่อมีการสร้างเมือง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้กิจกรรมของมนุษย์ อาคารสถานที่ของทางราชการจึงกระจุกตัวอยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์เป็นส่วนมาก ก่อนจะกระจัดกระจายออกไปตามขนาดของเมืองที่เพิ่มขึ้น

          รัฐเป็นผู้ที่ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนในหลาย ๆ ด้าน จึงเกิดความสัมพันธ์ที่ตัดกันไม่ขาด ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่เมื่อใดที่รัฐไม่สามารถทำตามความประสงค์ของประชาชนได้ จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเรียกร้องของประชาชนต่อรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ สร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม และความไม่พอใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกพ้องของตนเองหรือสังคม ผลักดันให้ประชาชนออกมาสร้างพื้นที่ของตนเองเพื่อให้รัฐมองเห็น หวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง พื้นที่บริเวณนี้จึงรองรับการต่อสู้อย่างอหิงสาและการปะทะระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นที่มาของสถานที่ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ และอนุสรณ์สถาน 6 ตุลาฯ เป็นต้น ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะขยายออกไปมากเพียงใด แต่พื้นที่นี้ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมืองเสมอมา

รัฐ: ก่อร่าง สร้างเมือง

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ในระยะแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษากรุงธนบุรีเป็นฐานที่มั่นก่อน พร้อมกับสร้างพระราชวังใหม่และสถานที่ราชการสำคัญที่ฝั่งพระนคร ประกอบไปด้วยพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียร กำแพง ป้อมปืน ประตู และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากการตั้งราชธานีใหม่เป็นระยะเวลา 3 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2328 และให้จัดการสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน

     ในระยะต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังของเจ้านายและที่พักอาศัยของเหล่าขุนนางเสนาบดี บริเวณรอบนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ง่ายต่อการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นกับพระบรมมหาราชวังให้รื้อกำแพงเมืองและคลองคูเมืองเดิมที่มีมาแต่สมัยกรุงธนบุรี เพื่อขยายอาณาเขตของพระนคร ถัดออกมาเป็นบ้านเรือนของข้าราชการชั้นผู้น้อยและราษฎร ส่วนสถานที่ราชการตั้งอยู่รอบนอกของกำแพงพระบรมมหาราชวังปะปนอยู่กับวังเจ้านายและบ้านพักอาศัยของประชาชน ล้อมรอบด้วยกำแพงพระนครและคลองรอบกรุง (คลองบางลำพูถึงคลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน) การสร้างราชธานีใหม่เป็นการวางรากฐานสำคัญของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมาทรงสร้างความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่น ให้สมกับความเป็นกรุงเทพมหานครฯ ผ่านการบูรณะพระบรมมหาราชวังอันเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางพระราชอำนาจและวัดวาอารามในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภก

     รวมไปถึงการขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น นโยบายการขยายอาณาเขตออกไปทางตะวันออกและการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในพระนครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของชาติตะวันตกและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิต ซึ่งเปรียบเสมือนการย้ายศูนย์กลางการปกครองจากพระบรมมหาราชวังมายังพระราชวังแห่งใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ทั้งสถานที่ราชการ วังเจ้านาย และประชาชน ย้ายไปอยู่บริเวณนั้น กลายเป็นชุมชนที่ทำให้พื้นที่ของกรุงรัตนโกสินทร์ขยายตัวออกไปอีกเช่นกัน

(1) ประชาชนร่วมทำบุญเนื่องในวันปีใหม่ พ.ศ.2506
(2) งานฉลองการพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475
(3) วันปิยมหาราช เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2497
(4) ประชาชนร่วมทำบุญเนื่องในวันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2512

การใช้พื้นที่ของรัฐ

     นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว บนพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ของการประกอบพระราชพิธีและรัฐพิธีต่าง ๆ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ตามความหมายของคำว่า พระราชพิธี หมายถึง งานที่พระมหากษัตริย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นตามประเพณีหรือความเชื่อของพระบรมราชวงศ์หรือของพระองค์เอง การประกอบพิธีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลแก่พระบรมราชวงศ์ ประชาชน และบ้านเมือง โดยจะมีรายละเอียดระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาล ส่วนคำว่า รัฐพิธี คือ งานที่คณะรัฐบาลเป็นผู้กำหนดและกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงรับไว้เป็นงานรัฐพิธี มีหมายกำหนดการไว้เป็นประจำ พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธาน หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์

     สถานที่ประกอบพิธีมีทั้งภายในที่รโหฐาน อย่างภายในพระบรมมหาราชวัง วัดวาอาราม และสถานที่ราชการ หรือพิธีที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะหรือกลางแจ้ง เช่น สนามหลวง, เสาชิงช้า, และตามเส้นทางการจราจรสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับประชาชนที่มาเฝ้ารอหรืออาศัยอยู่ตามตึกรามบ้านช่องที่เป็นทางผ่าน เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม กาลเวลาทำให้พิธีบางพิธีถูกยกเลิกไป ส่วนพิธีที่ยังปฏิบัติกันอยู่ก็ถูกลดทอนขั้นตอนรายละเอียดลงไป โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หลายพิธีถูกเลิกไป และมีพระราชพิธีหรือรัฐพิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามา

สกลวิถี: บนเส้นทางเสด็จฯ เลียบพระนคร
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

     ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขั้นตอนสุดท้าย คือ พิธีเสด็จฯ เลียบพระนคร แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค หมายถึง ขบวนเสด็จฯ ทางบก และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึงขบวนเสด็จฯ ทางน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลและชื่นชมพระบารมีของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ แต่ในรายละเอียดพิธีมีความแตกต่างกันไปตามพระราชนิยมและปัจจัยแวดล้อมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการเสด็จฯ เลียบพระนครโดยเป็นเพียงการยาตราขบวนแห่ทักษิณาวัตรรอบพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้หยุดขบวน ณ ที่ใด

     ครั้นเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หยุดเทียบหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงสักการะบูชาพระในพระอุโบสถ

     นอกจากนี้ แต่เดิมในการเสด็จฯ เลียบพระนครเป็นไปได้ว่ามีการห้ามประชาชนเปิดประตูหรือหน้าต่างในขณะที่มีขบวนเสด็จผ่านมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปิดประตูหน้าต่างได้ตามปกติ จึงปรากฏว่ามีประชาชนตั้งเครื่องสักการะบูชาหน้าบ้านเรือนของตนเพื่อเป็นการถวายความจงรักดีแด่พระมหากษัตริย์ ในช่วงเวลาต่อมา การเสด็จฯ เลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ค่อนข้างแตกต่างจากพระมหากษัตริย์องค์อื่น ๆ เนื่องจากเส้นทางของขบวนฯ เปลี่ยนไป และมีการหยุดเพื่อให้พระองค์ประทับ ณ พลับพลาระหว่างทาง เริ่มจากเสด็จฯ ไปประทับ ณ พลับพลาท้องสนามหลวง เพื่อให้พ่อค้าประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จากนั้น ใช้เส้นทางถนนจักรพงษ์ และถนนพระสุเมรุ เสด็จฯ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อสักการะบูชาพระ เส้นทางเสด็จฯ กลับ ใช้ถนนราชดำเนินกลาง และถนนสนามไชย ระหว่างทาง ประทับพลับพลา ณ ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ภายในพระนครฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ก่อนจะเสด็จฯ ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ตามสถลวิถีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อไปยังวัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพียงแต่ไม่ได้มีการประทับที่พลับพลาระหว่างทาง

เมื่อผู้ใหญ่ขยับ ผู้น้อยก็ขยาย

(1) ท่าเตียน แหล่งที่ตั้งของวังเจ้านาย สถานที่สำคัญ รวมทั้งบ้านเรือนประชาชน

(2) คลองบางลำพู ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกลายมาเป็นย่านการค้าสำคัญของพระนคร

(3) เกาะรัตนโกสินทร์เติบโตขึ้นมาพร้อมกับชุมชนต่าง ๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

          นอกจากการตั้งเมืองใหม่บนเกาะรัตนโกสินทร์ของพระมหากษัตริย์และบรรดาขุนน้ำขุนนางทั้งหลาย ย่อมต้องมีการลงหลักปักฐานของประชาชนเช่นกัน ภายในพื้นที่ของกรุงรัตนโกสินทร์มีชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่หลายชุมชนด้วยกัน การเข้ามาตั้งรกรากนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น อาศัยมาอยู่ก่อนแล้ว เข้ามาประกอบอาชีพ ค้าขาย การเผยแพร่ศาสนา การเทครัวมาจากแหล่งอื่น อันเนื่องมาจากผลกระทบของสงคราม หรือเข้ามาด้วยความสมัครใจเพราะต้องการพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

          ในช่วงแรก บ้านเรือนของข้าราชการชั้นผู้น้อยและประชาชนตั้งอยู่บริเวณรอบนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง ถัดออกไปจากวังและบ้านของเหล่าเสนาบดีผู้ใหญ่ บ้างอยู่รวมเป็นหมู่เป็นตำบล บ้างตั้งห่างออกไป ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัง สถานที่ราชการ และบ้านของขุนนางเพิ่ม บ้านเรือนของประชาชนจะขยับขยายตามออกไปอีกเช่นกัน ราวกับว่า “เมื่อผู้ใหญ่ขยับ ผู้น้อยก็ขยาย” รวมไปถึงการขยายเขตเมือง สร้างป้อม และขุดคูคลองเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพื้นที่ที่นอกจากจะไว้รองรับเจ้านายและข้าราชการแล้ว ยังมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาสร้างบ้านอยู่รอบนอกของกำแพงพระนคร เนื่องจากมีคลองล้อมรอบ ทำให้การสัญจรไปมาสะดวกมากกว่า

          ครั้นเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนผู้อยู่อาศัยในพระนครเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จึงต้องมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ออกไปทางตะวันออก แต่ในการขุดคลองครั้งนี้มิได้สร้างกำแพงพระนครด้วย เพื่อให้ประชาชนเดินทางเข้าออกได้อย่างสะดวกและรองรับการขยายเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไป นอกจากนี้ การติดต่อและการค้าขายกับต่างชาติเป็นอีกข้อสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาพระนครให้เจริญยิ่งขึ้น จึงมีการตัดถนนเจริญกรุง เพื่อเพิ่มเส้นทางการสัญจรให้สะดวกและทั่วถึงมากกว่าเดิม

(1) ชุมชนป้อมมหากาฬในอดีตที่กำลังถูกรื้อ ตามแผนพัฒนาพื้นที่

(2) ชุมชนนางเลิ้ง อีกหนึ่งชุมชนสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการสร้างพระราชวังดุสิต ถนนราชดำเนิน และถนนอีกหลายสาย พร้อมทั้งตึกแถวริมถนน นับเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญที่จะเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อความเจริญกระจายตัวจากวังหลวงสู่พื้นที่รอบข้างที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่เดิมที่มักจะอาศัยอยู่บริเวณริมคลอง จึงย้ายมาอาศัยอยู่บริเวณย่านที่ถนนตัดผ่าน เพื่อการสัญจรที่สะดวกรวดเร็วกว่าทางน้ำ ทำให้ชุมชนขยายตัว ทั้งชุมชนชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นที่มาของการประกอบอาชีพที่หลากหลายและช่างฝีมือของแต่ละชุมชน แต่ความเจริญก็ยังทำให้เกิดการเบียดขับประชาชนออกจากพื้นที่ที่มีการขยายถนนเพิ่มเติมการเวนคืน หรือแม้แต่การขายที่ให้กับรัฐเพื่อการสาธารณประโยชน์

          “กรุงเทพพระมหานครเวลานั้น ก็คือป่าเตี้ยปนละเมาะเราดี ๆ นี่เอง … พึ่งมีมนุษย์มาหักร้างถางที่ปลุกเคหสถานอยู่กันเป็นหย่อม ๆ รอบพระนคร ริมกำแพงเมืองด้านในมีราษฎรซึ่งส่วนมากเป็นพวกทาสพวกเลข อาศัยปลูกเพิงสุนัขแหงนมุงจากอยู่เป็นะระยะ ๆ … บนกำแพงเมืองก็ยังเป็นที่ ๆ ราษฎรอาศัยเลี้ยงวัวได้ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้จึงนาน ๆ ก็มีวัวก้าวพลาดพลัดกำแพงลงมาบนหลังคาเพิงของชาวบ้าน ทำให้โกลาหลอลหม่านกันเสียทีหนึ่งพอแก้เหงา”

เนื้อหาบางส่วนจาก ตอนที่หก “พระมหานครเมื่อ 80 ปีมาแล้ว” ใน ประวัติเจ้าคุณพ่อ (พระยาวรพงษ์พิพัฒน์) โดย
ม.ล.ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ผู้บุตร หน้า 8

ชุมชนป้อมมหากาฬ

ชุมชนที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม ล้วนเต็มไปด้วยชีวิตและการขับเคลื่อนสังคมทั้งจากในชุมชนเองและนอกชุมชน กล่าวคือ แต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์และการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป ดังเช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนท้ายป้อมปราการชานพระนคร

          พื้นที่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมากมายหลากหลายที่มาและฐานะ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของชุมชน คือ อาชีพและช่างฝีมือที่เกิดจากชุมชนแห่งนี้

          บริเวณที่เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬ มีตรอกที่เรียกกันว่า ตรอกพระยาเพ็ชรปาณี ซึ่งกล่าวกันว่ามาจากชื่อข้าราชการกระทรวงวังสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นนักปี่พาทย์โขนละครและผู้ก่อกำเนิดโรงลิเกทรงเครื่องแห่งแรกของสยาม เป็นลิเกแบบผสมผสานระหว่างยี่เก หรือ ลิเกของชาวมลายูกับละครนอกที่เป็นความบันเทิงสำหรับประชาชน แต่สำหรับลิเกฉบับพระยาเพ็ชรปาณีนี้ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาทอดเนตรและได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ว่า เป็นลิเกที่มีความแปลกใหม่ นักแสดงแต่งกายหรูหราด้วยเครื่องทรงมากมายเลียนแบบละครใน อีกทั้งยังใช้เพลงพื้น ๆ ทั่วไป ซึ่งพระยาเพ็ชรปาณีไขข้อข้องพระทัยแก่พระองค์ว่านักแสดงแต่งตัวด้วยชุดสวย ๆ เพื่อให้ดึงดูดผู้หญิงที่มาชมเพราะชื่นชอบเครื่องแต่งกาย เพลงที่ใช้ไม่ได้แต่งอย่างประณีตไพเราะ เพราะผู้ชมที่เข้ามาดูนั้น ต้องการความสนุกสนานตลกขบขัน และความไม่ยืดเยื้อของบทละคร หากเล่นตามอย่างขนบคงทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกเบื่อเป็นแน่ ราวกับว่าพระยาเพ็ชรปาณีให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายและปรับการแสดงให้เข้ากับเทรนด์หรือความนิยมของผู้คนในสมัยนั้น วิกลิเกของพระยาเพ็ชรปาณีทำให้ลิเกทรงเครื่องได้รับความนิยมในหลายพื้นที่ทั้งในพระนครและเมืองอื่น ๆ

          นอกจาก ลิเกทรงเครื่องเลื่องชื่อแล้ว ชุมชนป้อมมหากาฬยังเป็นแหล่งผลิตช่างฝีมือชั้นดี ทั้งช่างฝีมือในการทำเครื่องดนตรี ช่างปั้นเศียรพ่อแก่ ฤาษีดัดตน อาชีพทำกรงนกหลายพันธุ์ และอาชีพเลี้ยงไก่ชนพันธุ์ไทย

          ในปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬถูกรื้อถอนแล้ว แต่ประวัติศาสตร์และการต่อสู้กับรัฐตลอดเวลาที่ผ่านมายังคงชัดเจนและเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งของรัฐและราษฎร์

ชุมชนบ่งลำพู

          ย่านบางลำพู เป็นแหล่งการค้าสำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์มาอย่างยาวนาน มีทั้งห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ และร้านรวงมากมาย รวมถึงเป็นที่ตั้งของชุมชนหลายชุมชนด้วยกัน

          ชุมชนในย่านบางลำพูบางแห่งอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองรอบกรุง มีชื่อเรียกติดปากของชาวบ้านว่า คลองบางลำพู เพื่อกำหนดอาณาเขตที่ขยายเพิ่มจากเดิม เชื่อมต่อกับคูคลองอีกหลายสาย ทำให้การคมนาคมสะดวกสบาย ทั้งในแง่ของการเดินทางและการค้าขาย จึงกลายมาเป็นเส้นทางการจราจรสำคัญของพระนคร และดึงดูดให้มีคนเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น

          ชุมชนที่อยู่ในย่านนี้ล้วนเป็นชุมชนที่สร้างสรรค์งานด้านหัตถกรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม เป็นแหล่งบ่มเพาะช่างมีฝือในงานหลายแขนง ได้แก่

ชุนชมบ้านพานถม

ช่างทำเครื่องเงินและเครื่องถม

ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์

ช่างทอง

ชุมชมวัดใหม่อมตรส

ช่างแทงหยวก

ชุมชนบวรรังษี

ช่างทองคำเปลว

ชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม

แหล่งวัฒนธรรมด้านดนตรีไทย บ้านดนตรีไทยดุริยประณีต

ชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์ - ตรอกไก่แจ้

บ้านปักชุดละคร/ชุดโขน

ชุมชนวัดสามพระยา

ช่างทำใบลาน /ขนมข้าวต้มน้ำวุ้น

          ในปัจจุบัน ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในย่านบางลำพู แต่ความร่วมมือของคนภายในชุมชนหรือคนภายนอกชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อพยายามรักษาและพัฒนาย่านนี้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เดินไปด้วยกันได้ของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน

ชุมชนมหานาค

          ชุมชนมหานาคเป็นชุมชนชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองมหานาค การเกิดขึ้นของชุมชนมหานาคมีความคล้ายคลึงกับชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ภายในพระนคร ถึงแม้ชุมชนมหานาคจะอยู่นอกกำแพงพระนคร แต่เป็นบริเวณที่มีการจราจรทางน้ำคึกคัก เนื่องจากคลองมหานาค เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบและคลองผดุงกรุงเกษม

          ชาวมุสลิมที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้สันนิษฐานว่ามาจากหลายพื้นที่ เช่น ถูกเกณฑ์เข้ามาขุดคลอง จึงตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณนี้ บางกลุ่มอาจขยับขยายมาจากชุมชนมุสลิมในพระนคร ทำให้ชุมชนมหานาคกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จึงมีการสร้างมัสยิดมหานาคเป็นศาสนสถานสำคัญของคนในชุมชน และมีกุโบร์หรือสุสานสำหรับพิธีทางศาสนาแด่ผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งกุโบร์มหานาคเป็นพื้นที่สำคัญของผู้วายชนม์ที่อยู่ภายในและภายนอกพระนคร กล่าวคือ ในสมัยก่อน การเผาร่างหรือการฝังร่างของผู้วายชนม์ไม่ว่าศาสนาดาใดก็ตามจะต้องกระทำแต่ภายนอกพระนครเท่านั้น จึงเป็นไปได้มากว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ภายในพระนคร จะต้องนำร่างมาฝังไว้ที่กุโบร์มหานาคที่อยู่นอกเขตกำแพงเมือง

          บริเวณชุมชนมหานาคเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากการคมนาคมสะดวกสบาย และในปัจจุบันยังอยู่ใกล้กับตลาดโบ๊เบ๊ แหล่งค้าส่งเสื้อผ้า และตลาดผลไม้อีกด้วย

ถนนพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุในอดีต

     ถนนพระสุเมรุ เป็นถนนที่อยู่ในย่านสำคัญ ด้วยมีชุมชนหลายแห่ง สถานที่สำคัญทางศาสนา และเป็นย่านการค้าแสนคึกครื้นมาตั้งแต่อดีต จุดเริ่มต้นของถนนอยู่ที่ป้อมพระสุเมรุ ติดกับถนนพระอาทิตย์ พาดยาวเลียบคลองบางลำพูไปจนถึงถนนราชดำเนินกลางบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ และยังตัดผ่านไปยังถนนหลายสาย เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนจักรพงษ์ ถนนตะนาว ถนนสามเสน ถนนประชาธิปไตย และถนนดินสอ 

     ชื่อถนนนั้นเป็นไปตามชื่อตามป้อมพระสุเมรุที่อยู่ต้นสาย ป้อมพระสุเมรุ เป็นหนึ่งในสิบสี่ป้อมที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และยังเป็นป้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องในโอกาสวันพืชมงคล วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2509

งาน นาเชอนนัล เอกซฮิบิชัน (National Exhibition) ในคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2425 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ สนามหลวง พ.ศ.2481

มณพิธีท้องสนามหลวง

     สนามหลวง หรือเรียกกันตามชื่อเดิมว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นพื้นที่สำหรับพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 การใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เท่านั้น เช่น พิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน) และการทำนาหลวง เป็นต้น

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามหลวงได้รับการปรับปรุงให้มีพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการใช้งานที่จะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนท้องสนามหลวงมีความหลากหลาย ค่อย ๆ เปิดรับให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย งานฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี ที่มีกระบวนพยุหยาตราอันยิ่งใหญ่ การจัด “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน (National Exhibition)” เป็นการแสดงสินค้าที่ผลิตในประเทศสยามให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3 เดือน และการตั้งโรงทานรอบสนามหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการใช้สนามหลวงเป็นที่สวนสนามและการซ้อมรบของเหล่าเสือป่าและลูกเสือ สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงมีการจัดงานพระราชพิธีบนท้องสนามหลวงเรื่อยมา แม้ว่าบางงานจะมิได้ใหญ่โตเอิกเกริก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศขณะนั้นก็ตาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงเป็นจุดเปลี่ยนของสนามหลวงที่เปิดรับประชาชนอย่างเต็มกำลังในขณะเดียวกัน ยังคงเป็นพื้นที่ของพระราชพิธีและรัฐพิธีอยู่แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ร่วมกัน แม้การ
เปลี่ยนแปลงของสนามหลวงในปัจจุบัน จะทำให้ภาพของประชาชนเลือนรางไปก็ตาม

สนามหลวง: ในฐานะพื้นที่สาธารณะของประชาชน

(1) การเล่นว่าว การแข่งขันและกิจกรรมยามว่างสำหรับประชาชน

(2) ตลาดนัดสนามหลวง ส่วนที่จำหน่ายต้นไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ

(3) ตลาดนัดสนามหลวง มุมหนังสือสำหรับนักอ่าน

(4) สนามหลวงในฐานะที่พักพิงของใครหลาย ๆ คน

     ถึงแม้ว่าสนามหลวงจะไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสวนสาธารณะ แต่ลักษณะของสนามหลวงสามารถตอบโจทย์กิจกรรมได้หลายรูปแบบ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ อยู่ใกล้สถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในพระนครภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 บทบาทของสนามหลวงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากขึ้นจากเดิม อาทิ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สนามหลวงรับบทเป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยการใช้เป็น “ตลาดนัดสนามหลวง” ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายให้มีตลาดนัดทุกจังหวัดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เรียกว่า “ไฮปาร์ก” หลังจากนั้นถึงแม้ว่าตลาดนัดจะถูกยกเลิกไปในสมัยของพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ สนามหลวงกลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น การเป็นสวนสาธารณะ การเล่นกีฬา และสิ่งที่ไม่ขัดกับมุมมองของรัฐ มีหลายครั้งที่รัฐพยายามจัดโครงการปรับปรุงพื้นที่ เป็นเหตุให้กิจกรรมเหล่านั้นของประชาชนถูกยกเลิกไป แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงหายไป ในทางกลับกัน นี่ทำให้ประชาชนหลายคนรู้จักและรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์

สนามม้าสำหรับคนไทย ที่เหลือไว้เพียงชื่อ
     ราชตฤณมัยสมาคม หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่า สนามม้านางเลิ้ง เป็นสนามแข่งม้าและสปอร์ตคลับตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก บริเวณย่านนางเลิ้ง เมื่อ พ.ศ. 2456 พระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและที่ดินบริเวณตำบลนางเลิ้งจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างสนามม้าสำหรับคนไทย และพระองค์เสด็จฯ เปิดสนามม้า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 พระราชทานนามว่า ราชตฤณมัยสมาคม
     ภายในราชตฤณมัยสมาคมฯ มีสนามแข่งม้าและมีพื้นที่สำหรับการบำรุงพันธุ์ม้าโดยเฉพาะ เนื่องจากม้าส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต่อมามีการเพิ่มและต่อเติมพื้นที่สำหรับกีฬาชนิดอื่น ๆ เช่น บิลเลียด กอล์ฟ เทนนิส และฟุตบอล เป็นต้น กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์และสปอร์ตคลับของเหล่าเจ้านายในสมัยนั้น การแข่งม้าถือเป็นทั้งความบันเทิงและการพนันอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในยุคสมัยต่อมาความนิยมก็ลดลงไป
     ปัจจุบัน ราชตฤณมัยสมาคมฯ ที่มีอายุกว่า 102 ปี ปิดตัวลง เนื่องจากหมดสัญญาการเช่าพื้นที่ โดยการแข่งม้าครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2561

ทำเนียบรัฐบาล

“นายกรัฐมนตรีแถลงหลังการประชุม ครม. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า”
     ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ราชการสำคัญของคณะรัฐบาล ทั้งที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมกองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบางโอกาสใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และจัดงานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เดิมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นบ้านของ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ข้าราชบริพารคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า “บ้านนรสิงห์” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาลในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2484 ภายในพื้นที่ประกอบด้วย ตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี และตึกนารีสโมสร เป็นต้น