ถนนมหาไชย

ถนนมหาไชยในอดีต เมื่อครั้งยังมีกำแพงเมือง

          ถนนมหาไชย อยู่เลียบกำแพงพระนครบริเวณป้อมมหากาฬ เริ่มต้นจากถนนราชดำเนินกลางไปจนถึงถนนจักรเพชร ตัดกับถนนบำรุงเมือง ถนนหลวง ถนนเจริญกรุง และถนนเยาวราช เป็นถนนอีกแห่งที่ตั้งชื่อตามป้อมปราการ คือ ป้อมมหาไชย ตั้งอยู่ตรงข้ามวังบูรพาภิรมย์ เป็น 1 ใน 14 ป้อม ที่ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เช่นเดียวกับป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ
          ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถนนมหาไชยตัดผ่านย่านสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ ย่านการค้าวังบูรพาภิรมย์ ตลาดสำเพ็ง ตลาดพาหุรัด และเยาวราช เป็นต้น

ถนนหลานหลวง

     เป็นถนนที่วิ่งผ่านด้านข้างติดกับอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เริ่มต้นจากแยกยมราชจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แต่เดิมถนนหลานหลวงอยู่ในเขตชานเมือง เป็นพื้นที่เลี้ยงกระบือของราชสำนัก จึงเรียกกันว่า สนามกระบือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพื้นที่เพื่อสร้างวังแด่พระราชนัดดา 6 พระองค์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (ต้นราชสกุลจักรพันธุ์) สมเด็จพระราชโสทรานุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วังของพระราชนัดดานี้ สร้างติดกันเป็นคู่ โดยหันหน้าออกคนละฝั่ง ดังนี้

          – วังของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ คู่กับ วังพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์
          – วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดนัยวรนุช คู่กับ วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดรุณวัยวัฒน์
          – วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปิยบุตร คู่กับ วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์
          ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนผ่านวังต่าง ๆ เหล่านี้ จึงใช้ชื่อถนนว่า “ถนนหลานลวง”
          นอกจากถนนหลานหลวงแล้ว ยังมีชื่อถนนที่คล้ายกันอีก 2 เส้นทาง คือ ถนนลูกหลวง และถนนหลวง

ถนนลูกหลวง

          เป็นถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมกับถนนนครปฐม ถนนพระราม 5 ถนนนครสวรรค์และถนนหลานหลวง อยู่ใกล้กับตลาดสะพานขาว และวัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาว)
          ชื่อ ถนนลูกหลวง สันนิษฐานว่ามีที่มาคล้ายกับถนนหลานหลวง คือ เป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย ผู้ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
          – วังลดาวัลย์ หรือ วังแดง ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์
          – วังพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี
          – วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งเรียกกันอย่างลำลองว่า วังนางเลิ้ง ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
          – วังไชยา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ปัจจุบันเป็นที่ทำการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ถนนหลวง

          ถนนหลวง เริ่มต้นตั้งแต่ถนนมหาไชยไปจนถึงถนนกรุงเกษม ผ่านย่านวรจักรและโรงพยาบาลกลาง ถนนหลวงสร้างเมื่อพ.ศ. 2436 โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าควรให้ตัดถนนเส้นนี้เพื่อให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพงสัญจรได้อย่างสะดวก ด้วยถนนตัดใหม่ที่สามารถใช้ได้ทั้งคนเดินและรถม้า

ถนนบริพัตร

         ถนนบริพัตรอยู่บริเวณเยื้องกับอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เชื่อมกับสะพานมหาดไทยอุทิศ (หรือสะพานนางร้องไห้) สามารถใช้เป็นเส้นทางไปยังวัดสระเกศ (วัดภูเขาทอง) ได้ ถนนเส้นนี้ตัดผ่านเป็นแนวขวางเชื่อมกับถนนหลายเส้น ได้แก่ ถนนบำรุงเมือง ถนนหลวง และถนนเจริญกรุง ไปจนถึงถนนเยาวราช

ถนนราชดำเนิน

        ถนนสายสำคัญที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน ถือเป็นเส้นทางสัญจรหลักภายในพระนคร ถนนราชดำเนินสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเชื่อมระหว่างพระราชวังดุสิตและพระบรมมหาราชวัง มีรูปแบบตามแนวคิดอย่างตะวันตก โดยสร้างให้ถนนกว้างสำหรับทั้งรถสัญจรไป-มาและคนเดินบนทางเท้า ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินนอก

ถนนพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุในอดีต

     ถนนพระสุเมรุ เป็นถนนที่อยู่ในย่านสำคัญ ด้วยมีชุมชนหลายแห่ง สถานที่สำคัญทางศาสนา และเป็นย่านการค้าแสนคึกครื้นมาตั้งแต่อดีต จุดเริ่มต้นของถนนอยู่ที่ป้อมพระสุเมรุ ติดกับถนนพระอาทิตย์ พาดยาวเลียบคลองบางลำพูไปจนถึงถนนราชดำเนินกลางบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ และยังตัดผ่านไปยังถนนหลายสาย เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนจักรพงษ์ ถนนตะนาว ถนนสามเสน ถนนประชาธิปไตย และถนนดินสอ 

     ชื่อถนนนั้นเป็นไปตามชื่อตามป้อมพระสุเมรุที่อยู่ต้นสาย ป้อมพระสุเมรุ เป็นหนึ่งในสิบสี่ป้อมที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และยังเป็นป้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องในโอกาสวันพืชมงคล วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2509

งาน นาเชอนนัล เอกซฮิบิชัน (National Exhibition) ในคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2425 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ สนามหลวง พ.ศ.2481

มณพิธีท้องสนามหลวง

     สนามหลวง หรือเรียกกันตามชื่อเดิมว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นพื้นที่สำหรับพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 การใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เท่านั้น เช่น พิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน) และการทำนาหลวง เป็นต้น

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามหลวงได้รับการปรับปรุงให้มีพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการใช้งานที่จะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนท้องสนามหลวงมีความหลากหลาย ค่อย ๆ เปิดรับให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย งานฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี ที่มีกระบวนพยุหยาตราอันยิ่งใหญ่ การจัด “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน (National Exhibition)” เป็นการแสดงสินค้าที่ผลิตในประเทศสยามให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3 เดือน และการตั้งโรงทานรอบสนามหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการใช้สนามหลวงเป็นที่สวนสนามและการซ้อมรบของเหล่าเสือป่าและลูกเสือ สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงมีการจัดงานพระราชพิธีบนท้องสนามหลวงเรื่อยมา แม้ว่าบางงานจะมิได้ใหญ่โตเอิกเกริก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศขณะนั้นก็ตาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงเป็นจุดเปลี่ยนของสนามหลวงที่เปิดรับประชาชนอย่างเต็มกำลังในขณะเดียวกัน ยังคงเป็นพื้นที่ของพระราชพิธีและรัฐพิธีอยู่แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ร่วมกัน แม้การ
เปลี่ยนแปลงของสนามหลวงในปัจจุบัน จะทำให้ภาพของประชาชนเลือนรางไปก็ตาม

สนามหลวง: ในฐานะพื้นที่สาธารณะของประชาชน

(1) การเล่นว่าว การแข่งขันและกิจกรรมยามว่างสำหรับประชาชน

(2) ตลาดนัดสนามหลวง ส่วนที่จำหน่ายต้นไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ

(3) ตลาดนัดสนามหลวง มุมหนังสือสำหรับนักอ่าน

(4) สนามหลวงในฐานะที่พักพิงของใครหลาย ๆ คน

     ถึงแม้ว่าสนามหลวงจะไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสวนสาธารณะ แต่ลักษณะของสนามหลวงสามารถตอบโจทย์กิจกรรมได้หลายรูปแบบ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ อยู่ใกล้สถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในพระนครภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 บทบาทของสนามหลวงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากขึ้นจากเดิม อาทิ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สนามหลวงรับบทเป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยการใช้เป็น “ตลาดนัดสนามหลวง” ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายให้มีตลาดนัดทุกจังหวัดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เรียกว่า “ไฮปาร์ก” หลังจากนั้นถึงแม้ว่าตลาดนัดจะถูกยกเลิกไปในสมัยของพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ สนามหลวงกลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น การเป็นสวนสาธารณะ การเล่นกีฬา และสิ่งที่ไม่ขัดกับมุมมองของรัฐ มีหลายครั้งที่รัฐพยายามจัดโครงการปรับปรุงพื้นที่ เป็นเหตุให้กิจกรรมเหล่านั้นของประชาชนถูกยกเลิกไป แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงหายไป ในทางกลับกัน นี่ทำให้ประชาชนหลายคนรู้จักและรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์

สนามม้าสำหรับคนไทย ที่เหลือไว้เพียงชื่อ
     ราชตฤณมัยสมาคม หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่า สนามม้านางเลิ้ง เป็นสนามแข่งม้าและสปอร์ตคลับตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก บริเวณย่านนางเลิ้ง เมื่อ พ.ศ. 2456 พระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและที่ดินบริเวณตำบลนางเลิ้งจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างสนามม้าสำหรับคนไทย และพระองค์เสด็จฯ เปิดสนามม้า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 พระราชทานนามว่า ราชตฤณมัยสมาคม
     ภายในราชตฤณมัยสมาคมฯ มีสนามแข่งม้าและมีพื้นที่สำหรับการบำรุงพันธุ์ม้าโดยเฉพาะ เนื่องจากม้าส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต่อมามีการเพิ่มและต่อเติมพื้นที่สำหรับกีฬาชนิดอื่น ๆ เช่น บิลเลียด กอล์ฟ เทนนิส และฟุตบอล เป็นต้น กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์และสปอร์ตคลับของเหล่าเจ้านายในสมัยนั้น การแข่งม้าถือเป็นทั้งความบันเทิงและการพนันอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในยุคสมัยต่อมาความนิยมก็ลดลงไป
     ปัจจุบัน ราชตฤณมัยสมาคมฯ ที่มีอายุกว่า 102 ปี ปิดตัวลง เนื่องจากหมดสัญญาการเช่าพื้นที่ โดยการแข่งม้าครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2561

ทำเนียบรัฐบาล

“นายกรัฐมนตรีแถลงหลังการประชุม ครม. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า”
     ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ราชการสำคัญของคณะรัฐบาล ทั้งที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมกองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบางโอกาสใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และจัดงานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เดิมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นบ้านของ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ข้าราชบริพารคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า “บ้านนรสิงห์” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาลในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2484 ภายในพื้นที่ประกอบด้วย ตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี และตึกนารีสโมสร เป็นต้น