คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

รูปแบบสถาปัตยกรรม

     ความสวยงามโดดเด่นของอาคารส่วนหนึ่งมาจากภูมิทัศน์ที่ตั้ง เนื่องจากพื้นที่อยู่ตรงทางแยกของถนนหลายสาย สถาปนิกต้องใช้ความสามารถออกแบบอาคารโดยหันด้านหน้าอาคารไปทางถนนราชดำเนินกลาง และต่อปีกทอดยาวโค้งออกไปสองข้างตามแนวถนนหลานหลวงและถนนดำรงษ์ อาคารขนาดใหญ่สูงสามชั้นนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคนีโอคลาสสิค ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ผังอาคารมีความสามาตรเน้นความโดดเด่นของอาคาร ด้านหน้าบนชั้นสามใต้โดมมีหน้าบันจั่วสามเหลี่ยมแบบโรมันรองรับด้วยเสาติดผนังหัวเสาแบบดอริค ตรงตำแหน่งกลางอาคารประตูทางเข้าอาคารรองรับระเบียงชั้นสองด้วยเสาหัวคอมโพไซต์ และหลังคายอดโดม การตกแต่งเน้นความเรียบง่ายที่เกิดจากโครงสร้างในด้านเส้นสายและที่ว่างเป็นระบบเรขาคณิต การประดับที่มุขทางเข้า ลูกกรงโปร่ง รวมทั้งลวดบัวต่างๆ เป็นอิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมเรเนซองส์ มาผสมด้วยซึ่งตกแต่งเพียงส่วนสำคัญภายนอกอาคารเท่านั้น โดยเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยภายในมากกว่า

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

ส่วนประกอบอาคาร

ข้อมูลส่วนประกอบอาคารโดยมากมาจากสภาพก่อนการอนุรักษ์อาคาร
ในช่วงการเปลี่ยนแปลงจากที่ทำการกรมโยธาธิการมาเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อราวปี 2542

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

ผนังอาคาร

ผนังภายนอก ก่ออิฐขนาดใหญ่ 7 x 7 x 23 เซนติเมตร เผาด้วยความร้อนสูงจนก้อนอิฐสุกทั่วสม่ำเสมอ มีตราประทับ BSBW คาดว่าเป็นชื่อย่อโรงงานผลิตในต่างประเทศ ฉาบด้วยปูนซีเมนต์ผสมปูนขาวจากต่างประเทศ ด้วยขณะนั้นยังไม่มีการผลิตภายในประเทศ สันนิษฐานว่านำเข้าจากสิงคโปร์โรงงานผลิตในชวาและอินเดีย ผนังภายใน วัสดุเป็นชนิดเดียวกับผนังภายนอกยกเว้นบางส่วนที่ต่อเติมขยายห้องจะเป็นอิฐที่ทำด้วยมือในประเทศ ขนาดไม่สม่ำเสมอ และบางส่วนใช้ผนังเบากั้นห้องต่างๆ เป็นโครงเคร่าไม้กรุไม้อัด หรือกระเบื้องแผ่นเรียบ

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

รากฐานและพื้นอาคาร

พื้นชั้นหนึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก วัสดุปูพื้นมีทั้งส่วนหินอ่อนสีขาวบริเวณทางเข้า กระเบื้องหินขัด และกระเบื้องซีเมนต์พิมพ์สีที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ สินนิษฐานว่าใช้มาตั้งแต่ครั้งเป็นห้างสุธาดิลก โดยหลังแผ่นกระเบื้องมีตัวอักษร H คาดว่าเป็นชื่อย่อโรงงานผลิต ส่วนพื้นชั้นสองและสามเป็นไม้สักเข้าลิ้น ขนาด 1 x 6 นิ้ว วางบนคอนกรีตเสริมเหล็กและตงไม้

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

โดมเหนือหลังคา

โดมเหนือแปดเหลี่ยมบนยอดหลังคาด้านหน้านี้เป็นจุดเด่นที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากทั้งถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินนอก โครงสร้างส่วนโค้งของโดมทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด โดยด้านล่างของตัวโดมมีบันไดเวียนและห้องขนาดเล็ก ส่วนด้านบนประกอบด้วยช่วงโค้งแปดช่อง พร้อมราวระเบียงลูกมะหวดปูนปั้น และลวดบัว เหนือช่องโค้งประดับลายปูนปั้น สี่ด้าน บนยอดโดมมีเสาเหล็กสูงประมาณ 2.5 เมตร

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม

การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

       ด้วยเหตุผลของคุณค่าของอาคารในด้านสถาปัตยกรรม อันเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรับรูปแบบอิทธิพลตะวันตก ออกแบบโดยช่างชาวต่างชาติ อาคารสร้างเพื่อการใช้สอยเป็นห้างสรรสินค้าซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบตะวันตกที่เริ่มแพร่หลายในสังคมไทยในเวลานั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นเรียบง่ายการประดับตกแต่งเน้นภายนอกอาคาร ภายในเน้นพื้นที่ประโยชน์ใช้สอย เทคนิคก่อสร้างทั้งโครงสร้าง เสา และคานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก อันเป็นเทคนิคแบบใหม่ที่นายช่างชาวตะวันตก นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย
       ด้านเศรษฐกิจสังคม อาคารนี้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารขนาดใหญ่สำหรับประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้า แสดงถึงอิทธิพลวิธีชีวิตอย่างตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในรูปแบบการค้าและสินค้าต่างประเทศ
      ด้านประวัติศาสตร์ ผู้ครอบครองอาคารรายแรก บริษัท ยอนแซมสันแอนด์ซัน จำกัด เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์สืบเนื่องตั้งแต่ครั้งการเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งแรกขอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2440 และบริษัทฯ ได้รับพระราชทานตราครุฑจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
      ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถาน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 59 ง

ถนนพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุในอดีต

     ถนนพระสุเมรุ เป็นถนนที่อยู่ในย่านสำคัญ ด้วยมีชุมชนหลายแห่ง สถานที่สำคัญทางศาสนา และเป็นย่านการค้าแสนคึกครื้นมาตั้งแต่อดีต จุดเริ่มต้นของถนนอยู่ที่ป้อมพระสุเมรุ ติดกับถนนพระอาทิตย์ พาดยาวเลียบคลองบางลำพูไปจนถึงถนนราชดำเนินกลางบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ และยังตัดผ่านไปยังถนนหลายสาย เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนจักรพงษ์ ถนนตะนาว ถนนสามเสน ถนนประชาธิปไตย และถนนดินสอ 

     ชื่อถนนนั้นเป็นไปตามชื่อตามป้อมพระสุเมรุที่อยู่ต้นสาย ป้อมพระสุเมรุ เป็นหนึ่งในสิบสี่ป้อมที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และยังเป็นป้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องในโอกาสวันพืชมงคล วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2509

งาน นาเชอนนัล เอกซฮิบิชัน (National Exhibition) ในคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2425 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ สนามหลวง พ.ศ.2481

มณพิธีท้องสนามหลวง

     สนามหลวง หรือเรียกกันตามชื่อเดิมว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นพื้นที่สำหรับพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 การใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เท่านั้น เช่น พิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน) และการทำนาหลวง เป็นต้น

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามหลวงได้รับการปรับปรุงให้มีพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการใช้งานที่จะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนท้องสนามหลวงมีความหลากหลาย ค่อย ๆ เปิดรับให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย งานฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี ที่มีกระบวนพยุหยาตราอันยิ่งใหญ่ การจัด “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน (National Exhibition)” เป็นการแสดงสินค้าที่ผลิตในประเทศสยามให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3 เดือน และการตั้งโรงทานรอบสนามหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการใช้สนามหลวงเป็นที่สวนสนามและการซ้อมรบของเหล่าเสือป่าและลูกเสือ สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงมีการจัดงานพระราชพิธีบนท้องสนามหลวงเรื่อยมา แม้ว่าบางงานจะมิได้ใหญ่โตเอิกเกริก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศขณะนั้นก็ตาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงเป็นจุดเปลี่ยนของสนามหลวงที่เปิดรับประชาชนอย่างเต็มกำลังในขณะเดียวกัน ยังคงเป็นพื้นที่ของพระราชพิธีและรัฐพิธีอยู่แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ร่วมกัน แม้การ
เปลี่ยนแปลงของสนามหลวงในปัจจุบัน จะทำให้ภาพของประชาชนเลือนรางไปก็ตาม

สนามหลวง: ในฐานะพื้นที่สาธารณะของประชาชน

(1) การเล่นว่าว การแข่งขันและกิจกรรมยามว่างสำหรับประชาชน

(2) ตลาดนัดสนามหลวง ส่วนที่จำหน่ายต้นไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ

(3) ตลาดนัดสนามหลวง มุมหนังสือสำหรับนักอ่าน

(4) สนามหลวงในฐานะที่พักพิงของใครหลาย ๆ คน

     ถึงแม้ว่าสนามหลวงจะไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสวนสาธารณะ แต่ลักษณะของสนามหลวงสามารถตอบโจทย์กิจกรรมได้หลายรูปแบบ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ อยู่ใกล้สถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในพระนครภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 บทบาทของสนามหลวงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากขึ้นจากเดิม อาทิ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สนามหลวงรับบทเป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยการใช้เป็น “ตลาดนัดสนามหลวง” ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายให้มีตลาดนัดทุกจังหวัดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เรียกว่า “ไฮปาร์ก” หลังจากนั้นถึงแม้ว่าตลาดนัดจะถูกยกเลิกไปในสมัยของพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ สนามหลวงกลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น การเป็นสวนสาธารณะ การเล่นกีฬา และสิ่งที่ไม่ขัดกับมุมมองของรัฐ มีหลายครั้งที่รัฐพยายามจัดโครงการปรับปรุงพื้นที่ เป็นเหตุให้กิจกรรมเหล่านั้นของประชาชนถูกยกเลิกไป แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงหายไป ในทางกลับกัน นี่ทำให้ประชาชนหลายคนรู้จักและรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์

สนามม้าสำหรับคนไทย ที่เหลือไว้เพียงชื่อ
     ราชตฤณมัยสมาคม หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่า สนามม้านางเลิ้ง เป็นสนามแข่งม้าและสปอร์ตคลับตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก บริเวณย่านนางเลิ้ง เมื่อ พ.ศ. 2456 พระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและที่ดินบริเวณตำบลนางเลิ้งจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างสนามม้าสำหรับคนไทย และพระองค์เสด็จฯ เปิดสนามม้า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 พระราชทานนามว่า ราชตฤณมัยสมาคม
     ภายในราชตฤณมัยสมาคมฯ มีสนามแข่งม้าและมีพื้นที่สำหรับการบำรุงพันธุ์ม้าโดยเฉพาะ เนื่องจากม้าส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต่อมามีการเพิ่มและต่อเติมพื้นที่สำหรับกีฬาชนิดอื่น ๆ เช่น บิลเลียด กอล์ฟ เทนนิส และฟุตบอล เป็นต้น กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์และสปอร์ตคลับของเหล่าเจ้านายในสมัยนั้น การแข่งม้าถือเป็นทั้งความบันเทิงและการพนันอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในยุคสมัยต่อมาความนิยมก็ลดลงไป
     ปัจจุบัน ราชตฤณมัยสมาคมฯ ที่มีอายุกว่า 102 ปี ปิดตัวลง เนื่องจากหมดสัญญาการเช่าพื้นที่ โดยการแข่งม้าครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2561

ทำเนียบรัฐบาล

“นายกรัฐมนตรีแถลงหลังการประชุม ครม. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า”
     ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ราชการสำคัญของคณะรัฐบาล ทั้งที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมกองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบางโอกาสใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และจัดงานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เดิมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นบ้านของ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ข้าราชบริพารคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า “บ้านนรสิงห์” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาลในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2484 ภายในพื้นที่ประกอบด้วย ตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี และตึกนารีสโมสร เป็นต้น